คปภ. เตรียมผนึกพลังกับสำนักงานศาลยุติธรรม พัฒนาระบบการระงับข้อพิพาททางเลือกด้านการประกันภัย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และคณะผู้บริหารสำนักงานคปภ. ได้เข้าพบ นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มความร่วมมือด้านวิชาการเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือกด้วยวิธีไกล่เกลี่ยและวิธีอนุญาโตตุลาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการให้บริการประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม

ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า จริงๆแล้ว ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประกันภัยระหว่างผู้ประกอบการหรือผู้รับประกันภัยกับผู้บริโภคหรือผู้เอาประกันภัยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคปภ. มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาทด้วยระบบการไกล่เกลี่ย การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสายงานคดี และการรับเรื่องร้องเรียนที่มีการระงับข้อพิพาทด้วยระบบไกล่เกลี่ย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สายงานคุ้มครองสิทธิประโยชน์ แต่ยังขาดกลไกผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นคนกลางที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการไกล่เกลี่ย ซึ่งแม้ในปัจจุบันสำนักงานคปภ.จะใช้เจ้าหน้าที่ของคปภ.เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและดำเนินการประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่หากปริมาณข้อพิพาทเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็จะกระทบต่อการปฎิบัติภารกิจของเจ้าหน้าเหล่านั้น

นอกจากนี้คาดการณ์ได้ว่าการรองรับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลในการให้ความสำคัญต่อการรับประกันภัยพืชผลทางการเกษตร กลุ่ม SME ตลอดจนการจำหน่ายกรมธรรม์ไมโครอินชัวรันส์ หรือประกันภัยรายย่อยนั้นอาจส่งผลให้มีปริมาณเรื่องร้องเรียนและข้อพิพาทเพิ่มขึ้น ดังนั้นคปภ.จึงจำเป็นต้องเตรียมกลไกระงับข้อพิพาททางเลือกที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับปริมาณข้อพิพาทเหล่านี้ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน

การนำระบบไกล่เกลี่ยอย่างเต็มรูปแบบมาใช้ในการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยจะทำให้สามารถยุติข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการลดปริมาณของคดีที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม โดยเห็นได้จากข้อพิพาทที่เข้ามายังคปภ.ในแต่ละปีมีประมาณ 12,000 เรื่อง โดย คปภ.สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จสิ้นประมาณ 95% คิดเป็นสัดส่วนของภูมิภาค 60% และส่วนกลาง 40% ซึ่งการที่คู่กรณีสามารถตกลงกันได้ก็จะทำให้ข้อพิพาทจบลงได้อย่าง win-win แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการตามปกติ ดังนั้นในปี 2559 จึงเป็นปีที่ คปภ. จะทำงานในเชิงรุกในเรื่องของการระงับข้อพิพาทให้เห็นเป็นรูปธรรม มีกฎกติกาที่ชัดเจนและจะผลักดันให้มีการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้